เพลงไทยสากล

เพลงไทยสากล คือเพลงที่ใช้ภาษาไทยในการขับร้อง เริ่มต้นด้วยการใช้ทำนองเพลงไทยเดิมมาใส่เนื้อร้องและตัวโน๊ตสากลเข้าไป โดยการใช้มาตรฐานโน้ตเพลงของสากล และได้เกิดเป็นเพลงไทยในแนวใหม่ขึ้นมา เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ซึ่งขณะนั้นมีละครเวที ละครวิทยุ และได้เริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และเพลงไทยสากลก็ได้รับความนิยมตั้งแต่นั้นมา จนถึงยุคปัจจุบันเพลงไทยสากลก็ได้แตกสาขาออกไปเป็นเพลงไทยอีกหลายสาขา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงเป็นผู้นำในการแต่งทำนองเพลงสากลตามมาตรฐานโน๊ตดนตรีสากลเป็นเพลงแรกในจังหวะวอลซ์ ชื่อเพลงปลื้มจิตในปี พ.ศ. 2446 และน่าจะเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกของไทยที่ใช้ตัวโน๊ตสากล และใช้จังหวะแบบเพลงสากล ซึ่งจากพระปรีชาสามารถในการทรงประพันธ์เพลงโดยการใช้ทำนองและตัวโน๊ตสากลนี้ จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล”
จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพลงและดนตรีสากลเริ่มแพร่หลายเข้าสู่เมืองไทย และประชาชนคนไทยตามลำดับ มีนักดนตรีที่ได้รับการยกย่อง เช่น พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) และบุคคลในวงเครื่องสายฝรั่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าวงกรมโฆษณาการนั่นก็คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือสมยานามว่า สุนทราภรณ์
สำหรับเพลงไทยสากลนี้อาจเรียกได้ว่ามีที่มาอยู่ 2 สาย คือสายทางละคร และสายทางภาพยนตร์ สายละครมีต้นสายมาจากละครคณะปรีดาลัย มีลักษณะเป็นเพลงไทยร้องตามทำนองฝรั่ง ส่วนสายภาพยนตร์ สันนิษฐานว่ามาจากชาวญี่ปุ่นที่นำเอาภาพยนตร์เข้ามาฉายประมาณ พ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นภาพยนตร์เงียบ และได้มีการทำเพลงประกอบโดยการใช้แตรวงมาบรรเลงก่อนและขณะที่ทำการฉาย เพลงที่นำมาบรรเลงเป็นเพลงสากล และเพลงไทย เช่น เพลงแบล็คอีเกิ้ล และเพลงไทยของทูลกระหม่อมบริพัตรได้แก่เพลงมาร์ชบริพัตร และวอลล์ปลื้มจิต
ต่อมาเพลงไทยสากลได้แตกออกเป็นอีกหลายสาขา เช่น เพลงไทยสากลลูกกรุง ไทยสากลลูกทุ่ง และวงดนตรีอย่างวงสตริงคอมโบ เช่น ดิอิมพอสซิเบิ้ล และเพลงเพื่อชีวิตอย่างวงคาราวาน และวงดนตรีใหม่ ๆ อย่าง วงแกรนด์เอกซ์ เป็นต้น
ปัจจุบันมีแนวเพลงเพิ่มขึ้นอีกมากมายหลากหลายสาขา สำหรับแนวเพลงที่เกิดมาในยุคหลังได้แก่ เพลงแร็ป ฮิปฮอป เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นิยมเพลงไทยสากลลดน้อยลงแต่ประการใด และยังเป็นที่นิยมอยู่ตลอดไป